30/11/66
ปลัดอภิชัย โยคะสัย พร้อมครอบครัวถวายป้ายหินอ่อนวัดหลวงปู่โชคชัย ร้อยเอ็ด
วัน พฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ครอบครัวนายอภิชัย โยคะสัย ปลัดอาวุโสอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีเจตนาศรัทธาอย่างแรงกล้าได้ร่วมกันถวายป้ายประวัติหลวงปู่โชคชัย แบบหินอ่อน แห่งวัดโชคชัยโนนขาวง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มาอย่างช้านาน เป็นเจ้าภาพพร้อมกับครอบครัวและญาติสนิท ได้ให้ช่างฝีมือดีทำป้ายหินอ่อนประวัติโดยย่อหลวงปู่โชคชัย เพื่อนำมาตั้งไว้ในวิหารหลวงปู่โชคชัย ให้ผู้ที่เดินทางมากราบไหว้ขอพรหลวงปู่โชคชัยได้ศึกษาประวัติหลวงปู่ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลนาโพธิ์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียงมาแต่ เพราะในทางพระพุทธศาสนามีอานิสงส์มากจากการทำป้ายถวายวัดหรือป้ายบูชาจะช่วยให้ท่านเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีอำนาจบริวาร เจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์
สำหรับประวัติหลวงปู่โชคชัย วัดโชคชัยโนนขวาง ต.นาโพธิ์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เมื่อ พ.ศ.2463 พระครูวิธูรถาวรกิจ ซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าคณะตำบลนาโพธิ์ พระอุปัชฌาย์ ตำบลนาโพธิ์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด และย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านนาโพธิ์ (สหพันธ์พิทยาภรณ์) ได้เล่าไว้พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี จะมีหมู่ผู้สูงอายุทั้งชายหญิงไปนิมนต์ท่านไปสรงน้ำหลวงปู่โชคชัย ท่านพระครูวิธูรถาวรกิจ (มา ถาวโร) ได้สอบถามประวัติความเป็นมาของหลวงปู่โชคชัย โยมที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไป ตอบได้แต่เพียงว่าไม่ทราบประวัติละเอียด ทราบจากพ่อแม่เล่าต่อกันมาว่า พอถึงวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ต้องไปสรงน้ำหลวงปู่ทุกปีเป็นอย่างนี้เรื่อยมา ท่านได้พิจารณาอย่างรอบครอบ ปรากฏเห็นก้อนดินเหนียวขนาด 20 x 40 x 20 ซ.ม. รอยเผาไม่ค่อยสุกดี ก่อเรียงเป็นแท่นองค์พระไม่มีปูนซีเมนต์ฉาบยึดองค์พระลงรักสีดำ สันนิษฐานว่าคงเป็นโบสถ์มาก่อน อาจเป็นเพราะโรคระบาดหรือสงครามรุกราน ชาวบ้านจึงอพยพหนีไปตั้งเป็นหมู่บ้านนาโพธิ์ บ้านกอกนายูง บ้านตำแย ในปัจจุบัน ปล่อยให้องค์พระเจ้าหลวงตากแดดกรำฝนเรื่อยมาจนมีไม้พันธุ์ต่าง ๆ ทั้งไม้ยืนต้นและเครือเถาวัลย์ปกคลุมอยู่ปล่อยให้สถานที่นี้ร้างไปแต่ก่อนมีเพิงไม้มุงด้วยสังกะสีกว้างประมาณ 3 x 4 เมตร มีต้นคัดเค้าใหญ่อยู่ด้านหลังองค์หลวงปู่ มีฐานลักษณะคล้ายจอมปลวก ด้านในอาจมีอิฐ หินศิลาแลงก้อนขนาดใหญ่อยู่ ยอดเกศหักและพระกร (แขน) ชำรุด ได้ปรับปรุงซ่อมแซมขึ้นใหม่
ตั้งแต่อดีตชาวบ้านเรียกขานหลวงปู่กันบ่อยคือ “หลวงปู่โนนบ้านเก่า” และ “หลวงปู่โนนขวาง” พระครูวิธูรถาวรกิจอดีตเจ้าคณะตำบลนาโพธิ์ ได้ขนานนามหลวงปู่โนนขวางเป็น “หลวงปู่โชคชัย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เหตุผลที่ขนานนามว่าหลวงปู่โชคชัย ก็เพราะลูกหลานมาบนบานขอพร ได้ผลสมความปรารถนาเป็นส่วนมาก เรื่องที่ลูกหลานมาบทบานมีความถี่ที่สุดได้แก่ ของหาย ค้าขาย กุ้งตาย เจิมรถ ไม่สบายจำเป็นต้องผ่าตัด นักเรียน นิสิต นักศึกษา จะไปศึกษาต่อทั้งภายในและต่างประเทศ ทวงหนี้ ออกเหล้า ออกยา ขอลูก แฟนไม่มาสู่ขอ คู่สมรสตีจาก ถูกกล่าวหาต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ไปทำมาหากินต่างถิ่นนักการเมืองทุกระดับ ฯลฯ อีกเหตุผลหนึ่งคือเมื่อตอนที่สร้างวิหารเสร็จต้องการชื่อเพื่อจารึกตรงวิหารด้านหน้า ตรงซุ้มประตูทางเข้าดังที่เห็นในปัจจุบัน
หลวงปู่โชคชัย เป็นองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งประดิษฐ์สถานอยู่บนแท่นในท่าขัดสมาธิ องค์หลวงปู่มีผิวขรุขระไม่เรียบ สร้างด้วยศิลาแลง อยู่ในวิหารวัดโชคชัยโนนขวาง ตำบลนาโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลนาโพธิ์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดใกล้เคียงมาแต่โบราณ เพราะความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่เป็นอย่างมาก นับแต่นั้นมาตราบจนปัจจุบันเป็นเวลานับร้อยปี หลวงปู่โชคชัยจึงกลายเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวร้อยเอ็ดให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)