6/7/67

ประวัติพระอาจารย์อดิเรก อนุตตโร วัดหนองทราย จ.สุพรรณบุรี

อัตชีวประวัติ ของพระอาจารย์อดิเรก อนุตตโร นามเดิมก่อนอุปสมบท ชื่อ อดิเรก นามสกุล สว่างศรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓ ตรงกับแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย ต้นตระกูลเดิมทางบิดาเป็นชาวหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี นามสกุล สว่างศรี ต้นตระกูลเดิมทางมารดา เป็นคนศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นามสกุล มณีวงษ์ บิดาชื่อ นายบุญลือ สว่างศรี มารดาชื่อ นางสุวิน สว่างศรี พื้นเพดั้งเดิมเกิดที่ ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ศึกษาชั้นประถมศึกษา ๑-๖ ที่โรงเรียนบ้านหนองราชวัตร ศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ๑-๖ ที่โรงเรียนหนองหญ้าไซวิทยา บรรพชาเป็นสามเณรตอนอายุ ๑๘ ปีจำพรรษาอยู่ที่ วัดหนองราชวัตร เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ๖ เดือน ๑๒ วัน ได้เข้าอุปสมบทในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู โดยมีพระครูศาสนกิจจานุยุต (หลวงพ่อจำนงค์ นรินฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุรินทร์ กนฺตสีโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระถนอม ปญฺญาวฑฺฒโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เป็นพระภิกษุเมื่อเวลา ๐๙.๔๑ น. ได้นามว่า พระอดิเรก ฉายา อนุตฺตโร อดิเรก แปลว่า พิเศษ อนุตฺตโร แปลว่า ผู้ประเสริฐ , ยอดเยี่ยม อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองราชวัตรได้ ๓ เดือน ได้มาจำพรรษาที่วัดหนองทรายจนถึงปัจจุบัน 💠วิทยฐานะ ปีพ.ศ. ๒๕๕๓ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี ปีพ.ศ. ๒๕๕๔ สอบรายได้นักธรรมชั้นโท ปีพ.ศ. ๒๕๕๕ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก ปีพ.ศ. ๒๕๕๘ สำเร็จการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ สาขาการจัดการเชิงพุทธ 💠การแต่งตั้งและดำรงตำแหน่ง ปีพศ. ๒๕๕๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ๑๖ เมษายน ๒๕๖๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระใบฎีกา ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล หนองราชวัตร ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระปลัด ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูธรรมธร 💠ศึกษาตำราวิชาครูบาอาจารย์ การเขียนเลขยันต์ พระอาจารย์มีความชอบตั้งแต่เด็ก อายุ ๘ - ๑๐ ขวบ มีหน้าที่เลี้ยงวัวอยู่กับปู่ การเขียนยันต์จะใช้พื้นดินที่เป็นฝุ่นตามไร่นา ใช้มือลูบให้เรียบและฝึกเขียนยันต์ต่างๆ โดยมีปู่เป็นผู้สอนและดูแบบปั๊มเหรียญพระเครื่องของหลวงพ่อมุ่ยและหลวงพ่อต่างๆ วิชาที่ได้จากปู่ วิชาคัดเลือด เสกน้ำล้างหน้า มหาอุด คาถายาสูบ ฯ (ในที่นี้ปู่ของพระอาจารย์มีความใกล้ชิดกับหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ในเครือญาติฝ่ายแม่) 💠เรียนตำราสักยันต์ตอนเป็นสามเณร หลวงตาพัฒน์ หรือ หลวงพ่อพัฒน์ เป็นพระอยู่ทางภาคใต้จังหวัดพัทลุง แกนั่งรถมาธุดงค์ที่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วจะเดินไปวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี แกเดินมาถึงวัดหนองราชวัตรมาขอจำพรรษาในช่วงเข้าพรรษาพอดี หลวงพ่อพัฒน์ ได้สอนพระอาจารย์ในวิชาการสักยันต์ และครอบตำราสักยันต์ สอนกรรมฐานและการทำสมาธิ ( ก่อนหน้านั้นพระอาจารย์ได้ฝึกสมาธิอยู่แล้ว โดยเข้าไปทำกรรมฐานในป่าช้าอยู่เป็นประจำ เมื่อหลวงพ่อพัฒน์มาจำพรรษาก็ได้บอกแนวทางเพิ่มเติม ) เมื่อออกพรรษาพระอาจารย์ก็เริ่มใช้วิชาสักยันต์ ให้ลูกศิษย์ จนมีลูกศิษย์มาสักยันต์มากมาย. การสักยันต์ของพระอาจารย์อยู่ในช่วงเป็นสามเณรและเป็นพระได้ ๓ เดือน พระอาจารย์ก็หยุดสักจนถึงปัจจุบัน 💠ย้ายมาจำพรรษาณวัดหนองทราย เนื่องด้วยวัดหนองทรายมีการเรียนการสอนธรรมวินัย พระอาจารย์จึงมาเรียนและจำพรรษาที่วัดนี้ เรียนได้ ๓ ปีก็สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก 💠ตำรับตำราวิชาครูใหญ่แห่งสำนัก ปีพศ. ๒๕๕๙ พระอาจารย์ได้รับตำราของหลวงปู่อิ่ม วัดหัวเขา จากปู่วัง สูงปานเขา ผู้เป็นลูกของปู่เหรียญ สูงปานเขา เดิมทีของตำรา ในสมัยที่หลวงปู่อิ่มยังมีชีวิตอยู่ ตำราทั้งหมดอยู่ที่วัดหลวงปู่ได้รวบรวมไว้มาก เปรียบเหมือนตักสิลา ในตำรา โองการไหว้ครูได้เอ่ยถึงครู มี ครูหมี ครูเม่น ครูสุข ครูอ่อน ครูแสง ครูแจง ปู่ปลั่ง ผู้เป็นต้นวิชา เริ่มต้นหล่อพระวัตถุมงคล หลวงปู่และปู่ปลั่ง ได้ทำกันในวัด และภายหลังได้มีลูกศิษย์และชาวบ้านมาช่วยด้วย เท่าที่เอ่ยได้มี ปู่เหรียญ สูงปานเขา และ หลวงพ่อเย็น วัดสระเปรียญ(ในสมัยหลวงพ่อเย็นเป็นฆราวาส) ในสมัยนี้เองได้มีการจดตำราจากต้นฉบับซึ่งเป็นตำราการหล่อโลหะและผูกยันต์ การผสมโลหะในสมัยนั้นลูกศิษย์ที่เป็นช่างหล่อจะมีตำราทุกบ้าน เมื่อสิ้นหลวงปู่อิ่มตำราครูหัวใหญ่ที่เรียกกัน ยังอยู่ที่วัดจนสิ้นหลวงพ่อแขก ตำราครูหัวใหญ่ ได้ตกมาอยู่กับปู่เหรียญ สูงปานเขา และตำราที่จดกันเมื่อสิ้นพ่อ ลูกๆก็นำมาให้ปู่เหรียญเก็บทั้งสิ้น เมื่อสิ้นปู่เหรียญตำราได้ตกมาถึงปู่วัง สูงปานเขา จนถึงปีพ.ศ ๒๕๕๙ ปู่วังได้ยกครูและมอบตำราทั้งหมดให้พระอาจารย์อดิเรก อนุตฺตโร มาจนถึงปัจจุบัน ตำราที่พระอาจารย์รับมานับได้ประมาณ ๒๐ กว่าผูก/เล่ม และเป็นแบบบันทึกลงสมุดเขียนอีกมาก (ปัจจุบันตำราอยู่ในกุฏิพระอาจารย์) จะเอาออกทุกปีในวันคำนับครู 💠หัวเขา เกี่ยวเนื่องกับ มะขามเฒ่าอย่างไร ในสรรพวิชาต่างๆที่หลวงพ่ออิ่มได้รวบรวมมาจากครูบาอาจารย์ ที่ได้เอ่ยชื่อไว้แล้วนั้นมีอยู่มาก แต่ที่ไม่น้อยไปกว่าครูท่านอื่นก็คือ หลวงพ่อจะเขียนไว้ว่าได้มาจากมะขามเฒ่า ของครูสุข หลวงปู่อิ่มจะเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ศุขแบบเต็มตัว หรือเป็นสหายธรรมแลกเปลี่ยนวิชากันข้อนี้ตอบยาก แต่ที่แน่ๆหลวงปู่อิ่มพาหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ไปเรียนได้วิชามามากมายและหลวงปู่อิ่มเรียกหลวงปู่ศุขว่า "ครูศุขวัดมะขามเฒ่า" ตำราที่พระอาจารย์รับมาแบ่งเป็น ๓ หมวด ๑. ตำราเลขยันต์คาถาเสก ๒. ตำรายามหาเถร ๓. ตำราโลหะธาตุ ในตำราที่พระอาจารย์ท่านเรียน ที่หลวงปู่อิ่มได้มาจาก วัดมะขามเฒ่า มี ยันต์พุทธมนต์โลก คำอาราธนาครู พุทธอุด พุทธเมตตา พุทธะรัตนมาลา พุทธเมตตาใหญ่ อิติ พุทธมหานิยม นะฤาชา พุทธสาริกา นะหน้าทอง นะคุ้มเมือง ยันต์องค์พระ พระคาถาจินดามณี นะนกยาง นะงู นะมหาระงับ ตารางเพชร เกาะแก้ว นะสูญยัง ยันต์ประสมธาตุ อาวุธ ๔ นะโมตาบอด เฑาะว์ทรหด และอีกมากที่พระอาจารย์บอกยังไม่หมด 💠ตำราเลขยันต์คาถาเสก เริ่มตั้งแต่ ตีนิสิงเห จตุโร เทพอาวุธ พระมหาเถระอุปคุตชนะมาร นารายณ์ ๘ บท มงกุฎพระพุทธเจ้า จักรแก้วพระพุทธเจ้า องค์การนารายณ์แรง ทำมงคล พระมหาฉิมพลี พระคาถาเมตตามหานิยม พระคาถาเสกสิงห์ ลงปลุกหนุมาน ยันต์อาวุธพระพุทธเจ้า หรือยันต์คู่ชีวิต โสฬสมงคล ยันต์พุทธนิมิตร เสกนางกวักและอีกมากมายขอเอ่ยเท่านี้ เรื่องนะ ๑๐๘ จงดูรอยจารหลังเหรียญ ที่พระอาจารย์ท่านจารให้เถิด 💠ตำรายามหาเถร ดังที่ลูกศิษย์เคยเห็นพระอาจารย์เคยทำพระทรงครุฑ กับทรงเม่นเนื้อดิน แต่ยังไม่ครบพิมพ์ มีที่มาจากตำราหลวงพ่ออิ่มดังนี้ "โอมกูจะเชิญพระฤาษีทั้ง ๘ ตน ให้ไปนิมนต์เครื่องพาหนะของพระพุทธเจ้า มีครุฑ เสือ ไก่ เม่น วานร นกกระจาบปลา มาช่วยกู " และยาวจนจบนี้ คือพระคาถา คำกล่าวคาถานี้คือองค์การมหาเถร ตำรายาเป็นของโบราณถ้าทำพระก็จะเชิญเครื่องพาหนะมาไว้ ใต้ล่างจึงเป็น พระทรงครุฑ ทรงเม่น ในตำรามียางู แก้งูกัดงูพิษคาถาถอนต่างๆ พ่นซาง ทำน้ำมนต์ระงับความ มนต์สะกด แก้พิษสุนัข แก้คนเสียจริต ธรณีสารและอีกมากมาย ตำรายามีอยู่ ๕ ผูก 💠ตำราโลหะธาตุ การหล่อโลหะจากปู่วังมาถึงพระอาจารย์ การทำพระหล่อโบราณแยกออกเป็น ๓ ส่วน ๑. การปั้นหุ่น พระอุปคุตพระปิดตาและพระต่างๆนั้น ต้องรู้วิธีการหุงขี้ผึ้ง ดังคำที่อาจารย์บอกว่า ร้อนหุงให้แข็ง เย็นหุงให้อ่อน การปั้นจะเป็นการปั้น ทีละองค์ จะต้องรู้จักเลขและยันต์ ที่จะแปะลงไป รู้จักผูกยันต์และปฏิสนธิยันต์ จึงจะสมบูรณ์ ๒. การทำดินในและดินนอก รูชนวน/เวลาเผาพิมพ์ รู้จักดินต่างๆที่จะนำมาใช้ รู้สูตรผสมดิน รู้การเข้าชนวนน้ำโลหะ ความหนาของดินปากเบ้า ระยะเวลาเผาพิมพ์ การจะเทหล่อโลหะแต่ละชนิด ใช้เวลาเผาเบ้าพิมพ์ไม่เท่ากันต้องทำนานมาก ๓. การผสมโลหะ เล่นแร่แปรธาตุ หุ่งเมฆสิทธิ์ เมฆพัตร ผสมสำริดเงิน สำริดทอง ชิน สัตตะ นวโลหะ ในปัจจุบันหาพระเกจิที่จะสำเร็จ เมฆสิทธิ์ เมฆพัตร ยากมาก สำหรับเนื้อเมฆสิทธิ์หุ่งยากมาก กว่าพระอาจารย์จะทำสำเร็จใช้เวลา 2 ปีกว่า สำหรับเมฆพัตรนั้นอันตราย การหล่อต้องรู้ระยะเวลา หลอมเนื้อโลหะให้ถึงจุด จึงจะหล่อได้สมบูรณ์ 💠ในปีพ.ศ. ๒๕๕๙ พระอาจารย์ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ พ่อท่านเอียดวัดโคกแย้ม จังหวัดพัทลุง พ่อท่านผ่องวัดแจ้ง จังหวัดพัทลุง 💠การจัดสร้างวัตถุมงคลตั้งแต่ต้นพระอาจารย์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์เองทุกรุ่นทุกพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรุ่นแรก สมเด็จ พระพิมพ์ต่างๆ รูปเหมือนปั๊ม ทุกอย่างทำด้วยมือ ปั้นหุ่นทีละองค์ หล่อโลหะที่วัด จนถึงปัจจุบัน 💠ในปัจจุบันพระอาจารย์ รวมทั้งคณะลูกศิษย์ และชาวบ้าน ช่วยกันพัฒนาวัดชุมชนโรงเรียนพระอาจารย์ได้จัดสร้างวิหาร ศาลาเรือนไทย เจดีย์ ปรับภูมิทัศน์ และกำลังจะสร้างซุ้มทางเข้าวัด เพื่อให้วัดดูสวยงาม น่าเข้ากราบไหว้ เป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังสืบไป ฯ #กราบพระอาจารย์เรก🙏🙏🙏 #พระอาจารย์อดิเรก_อนุตตโร🙏 #วัดหนองทราย จ.สุพรรณบุรี Cr.ขอบคุณเจ้าของข้อมูล/รูปภาพ Facebook...Orgte Mile และกลุ่มลูกศิษย์พระอาจารย์อดิเรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น