27/6/67
ประวัติและปฏิปทาพระครูสุนทรศีลขันธ์ (หลวงปู่สิงห์ทอง_ปภากโร) วัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่) ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
✨🌼ประวัติและปฏิปทา🌼✨
#พระครูสุนทรศีลขันธ์
(#หลวงปู่สิงห์ทอง_ปภากโร)
วัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่)
ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
๏💢 ชาติภูมิ
“พระครูสุนทรศีลขันธ์” หรือ “หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร” มีนามเดิมว่า สิงห์ทอง ประมูลอรรถ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๘๗ ณ บ้านกลางใหญ่ ต.กลางใหญ่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบ่อง และนางอูบ ประมูลอรรถ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนโต มีรายชื่อตามลำดับดังนี้
(๑) หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร
(๒) นางรั้ว ประมูลอรรถ
(๓) นางทองดำ ประมูลอรรถ (แม่ชีทองดำ)
ก่อนที่ท่านจะมาปฏิสนธิในครรภ์โยมมารดานั้น ในคืนหนึ่งโยมมารดานิมิตฝันว่า มีชายแก่คนหนึ่งเอางาช้างยาวใหญ่สีขาวบริสุทธิ์มามอบให้ แล้วสั่งกำชับว่า “งาช้างนี้เป็นมงคล ขอให้รักษาไว้ให้ดีเพื่อเป็นมรดกของเจ้า ห้ามไม่ให้ผู้ใดใครคนหนึ่งเอาไปเป็นกรรมสิทธิ์อย่างเด็ดขาด” ไม่นานนักโยมมารดาของท่านก็ได้ตั้งครรภ์ และได้พยายามถนอมรักษาครรภ์เป็นอย่างดี จนครบทศมาส ๑๐ เดือนแล้วคลอดออกมา เมื่อถึงเวลาคลอดตามปกติของผู้มีบุญญาบารมี แต่โบราณว่าไว้จะผิดธรรมชาติ นั่นคือเวลาคลอดท่านเอาก้นหรือขาออกมาก่อน เป็นที่ลำบากของโยมมารดาอย่างยิ่ง เมื่อคลอดออกมาได้โยมมารดาเจ็บปวดอย่างหนักแทบขาดใจถึงกลับสลบไป ผู้เฒ่าผู้แก่ต้องเอาผ้าถุงมาพัดโบกให้จนฟื้นเป็นปกติ หมอตำแยได้ตัดสายรกสายสะดือ ล้างเช็ดตัวให้สะอาด เอาไปวางนอนในกระด้ง หลังจากนั้นโยมบิดา-โยมมารดาก็เลี้ยงดูด้วยความรักตลอดมา โดยมี “โยมป้าตาล” เป็นผู้อุปการะดูแลเปรียบเสมือนโยมมารดาอีกคนหนึ่ง เมื่อท่านอายุได้ ๒ ขวบโยมป้าตาลก็ตายจากไป โยมบิดา-โยมมารดาจึงได้เลี้ยงดูจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ โยมบิดา-โยมมารดาได้อพยพย้ายครอบครัวมาอยู่บ้านกุดแห่ ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.อุบลราชธานี (จ.ยโสธร ในปัจจุบัน) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ดี
๏💢 การบรรพชาและอุปสมบท
ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เมื่ออายุ ๑๙ ปี ท่านได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสำราญนิเวศ (พระอารามหลวง) ต.บุ่ง อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) โดยมี พระครูทัศนวิสุทธิ์ (พระมหาดุสิต เทวีโร) เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากบรรพชาแล้ว ได้มาจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ณ วัดป่าสุนทราราม ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เป็นเวลา ๑ ปี แล้วก็ได้ลาสิกขามาประกอบอาชีพเลี้ยงดูโยมบิดา-โยมมารดา และน้องสาวทั้งสอง เพราะโยมบิดาป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคหืด ครั้นเมื่อน้องสาวทั้งสองของท่านมีครอบครัว ท่านได้มอบสมบัติให้น้องๆ ไปทั้งหมด แล้วท่านก็ออกไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามคำสั่งของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน
นิมิตก่อนที่หลวงปู่สิงห์ทองท่านจะตัดสินใจออกบวช มีความดังนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คืนหนึ่งท่านได้ฝันไปว่า มีผู้เฒ่าผมขาวทั่วหัวถือฆ้อนกระบองเพชรมีหนาม ไล่ตามหมายจะเอาชีวิตท่าน ท่านก็วิ่งหนีตั้งแต่บ้านของท่านจนถึงนานายแปลง ห้วยหินลับ วิ่งไล่กันขึ้นไปบนเถียงนา ท่านก็กระโดดจากเถียงนาหนีไปหลบซ่อนที่กองฟาง ผู้เฒ่าคนนั้นหาไม่เจอจึงไปถามนายเผย คูณศรี เพื่อนของท่านว่า “แกเห็นเซียงสิงห์ทองวิ่งมาทางนี้ไหม” นายเผยตอบว่า “ไม่เห็น” ผู้เฒ่าคนนั้นจึงเดินไปอีกทาง ส่วนท่านพอผู้เฒ่าไปแล้วก็วิ่งหนีกลับบ้านด้วยความกลัว จนสะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกกลัวอยู่ เหนื่อยจนหายใจหอบ
เมื่อตั้งสติได้ ท่านก็ได้สวดมนต์ไหว้พระ ระลึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เมตตาพรหมวิหาร ๔ แล้วตั้งใจนั่งสมาธิ ตั้งแต่เวลาประมาณตีสองจนถึงเช้า พอสายท่านได้ไปกราบนมัสการเพื่อขอรดน้ำมนต์กับพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น จากนั้นจึงได้พิจารณาถึงความตาย ว่าสัตว์ทั้งหลายหนีไม่พ้น ดังเพื่อนๆ หลายคนที่ได้ตายลงไป จึงมีความคิดที่จะออกบวช
และในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้ฝันว่าตัวเองถึงแก่ความตาย ร่างถูกบรรจุลงโลงถูกหามจะนำไปเผาที่วัดป่าสุนทราราม มีผู้ชาย ๔-๕ คนหามไป ไม่มีพระมาสวดมาติกาบังสกุลเลย หามเวียนรอบกองฟอนครบสามรอบ ก็ยกโลงศพวางบนกองฟอนใกล้ต้นมะตูม วิญญาณของท่านออกจากร่างไปอยู่บนกิ่งต้นมะตูม แล้วมองดูร่างของท่านซึ่งกำลังถูกเผาไหม้ ท่านร้องตะโกนบอกว่า “สูเอากูมาเผา แต่กูไม่ร้อนดอก” แต่ไม่มีใครพูดตอบ ชายเหล่านั้นก็กลับบ้านไป ปล่อยให้ท่านอยู่เพียงคนเดียว ท่านจึงลงมาดูศพของท่านที่ถูกเผาจนหมด ไฟก็ดับมอดลง ในกองฟอนเหลือแต่เถ้ากับกระดูก จึงคิดตรองว่าจะทำอย่างไรดี ทันใดนั้นก็คิดว่าเราจะเอากระดูกมาปั้นเป็นรูปพระ จึงหาเอาครกกับสากมาบดตำให้ละเอียด เอาน้ำสะอาดมาผสม แล้วปั้นเป็นรูปพระ เมื่อปั้นเสร็จไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน คงต้องทิ้งลงกองฟอนอีกเป็นแน่ แต่แล้วท่านก็สะดุ้งตื่นจากฝัน เมื่อตั้งสติได้จึงแปลความฝันว่า เราคงตายจากเพศคฤหัสถ์แน่ คงได้อุปสมบทเร็ววันนี้เป็นแน่แท้
ครั้นมีอายุ ๒๖ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ อุโบสถวัดป่าสุนทราราม โดยมี พระครูภัทรคุณาธาร เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็อยู่ศึกษากับพระอาจารย์ดี ฉนฺโน และเป็นพระอุปัฏฐากรับใช้ตลอดมา
พระครูวิมลสีลาภรณ์ (หลวงปู่เนย สมจิตฺโต) วัดป่าโนนแสนคำ ต.เจริญศิลป์ อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ เขตวิสุงคามสีมาวัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่) จ.ยโสธร เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยมีพระครูภัทรคุณาธาร (บุญ โกสโล ป.ธ.๔) วัดพรหมวิหาร ต.สวาท อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุนทรศีลขันธ์ (พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์อุ้ย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่เนยท่านได้เข้ารับฟังธรรมจากพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เจ้าอาวาสวัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่) ในขณะนั้น อยู่เป็นสม่ำเสมอและบ่อยๆ
๏ ประวัติความเป็นมาของวัดป่าสุนทราราม
ครั้งในสมัย พระอาจารย์ดี ฉนฺโน เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรืองท่าแขก หรือวัดบ้านกุดแห่ บ้านกุดแห่ ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร วัดเจริญรุ่งเรืองมากทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ พระนักพัฒนา และพระนักก่อสร้าง ได้นำพาคณะศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านทำบุญตามประเพณีจริงๆ เช่น เดือน ๓ เอาบุญข้าวจี่, เดือน ๔ เอาบุญพระเวสสันดรชาดก, เดือน ๕ ก็บุญสงกรานต์, เดือน ๖ บุญบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสน เป็นต้น
แต่ก่อนใกล้จะถึงวันทำบุญ ได้มีการป่าวประกาศประชุมกันทำตูบ ทำปะรำสำหรับต้อนรับพระ ปัจจุบันใช้เต็นท์แทน ญาติโยมที่มาทำบุญใส่ฉลากมาเป็น ๖๐ กว่าหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านที่มาจะประกอบด้วยหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ พระเณรจะเดินทางมา บางวัดมีม้า พระจะขี่ม้ามา ญาติโยมหนุ่มสาวเดินตามหลังสนุกสนานร่าเริง พอไปถึงวัด เจ้าภาพจัดกันไว้เป็นคุ้มเป็นกลุ่ม คุ้มไหนรับบ้านไหนก็จะพาไปพักที่ตูบที่ประจำที่เตรียมไว้ ใครรับบ้านไหนจะตกลงกันในวันประชุมก็เป็นที่รับบ้านนั้น พอถึงเวลาแห่พระเวสก็จะไปรวมกัน มีกลองตุ้ม กลองหาง กลองเลง กลองกริ่ง มีวงระนาด ฆ้องวง มีหัวงิ้วหัวโขน เข้าขบวนแห่ สมัยนั้นถือเป็นของแปลกประหลาดมาก กลางคืนก็มีมหรสพ แต่ก่อนไต้กระบองไม่มีไฟฟ้า เครื่องเสียงไม่มี คนมาเที่ยวงานชมงาน ๑๐๐ กว่าหมู่บ้าน แออัดเต็มบ้านเต็มวัด คำว่าทะเลาะกันตีกันไม่มีเหมือนทุกวันนี้ มีแต่สนุกสนานร่าเริง คนหนุ่มสาวก็พูดเกี้ยวกันเป็นคำเว่าผญา แต่โบราณอาหารการกิน เลี้ยงกันเลี้ยงแขกที่มาเอาบุญอุดมสมบูรณ์ การทะเลาะวิวาทไม่มีเลย
พระอาจารย์ในตอนนั้นท่านจะเป็นช่าง ทำอะไรเป็นหมด และให้ดีสมชื่อท่านด้วย ที่เห็นของเก่าที่ท่านทำไว้ก็ตู้เก็บคัมภีร์เทศนา ซึ่งจารึกด้วยตัวธรรมตัวขอมทั้งนั้นเลย ท่านมีม้าเป็นพาหนะ ท่านจะไปเทศนาบ้านกุดเชียงหมี บ้านไกลท่านจะขี่ม้า ญาติโยมก็เดินตามไป แต่ก่อนไม่มีรถเลย
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พร้อมน้องชายได้เดินทางออกจากวัดศรีบุญเรืองท่าแขก บ้านกุดแห่ ด้วยเกิดอยากไปเที่ยวหาเรียนวิชาอาคม หาของดีหาวิชาความรู้เพิ่มเติม จึงเดินทางท่องเที่ยวขึ้นไปทางเหนือไปทาง จ.สกลนคร จ.นครพนม ด้วยคงเป็นบุญกุศลแต่ชาติปางก่อนหนุนส่ง จึงจำเพาะให้การเดินทางไปมืดค่ำลงที่บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซึ่งในขณะนั้นที่วัดบ้านสามผง ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พักปฏิบัติธรรมอบรมญาติโยมอยู่ที่นั้นพอดี เมื่อพระอาจารย์ดีเข้าไปนมัสการกราบไหว้ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ทักท้วงทักทายได้ถูกต้องเหมือนตาเห็น เป็นอัศจรรย์มาก พระอาจารย์ดีเข้าใจทันทีว่าท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์ สำเร็จแล้ว ท่านเป็นผู้วิเศษจริงๆ เมื่อมาพบของดีเข้าแล้วจึงขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์ทันที ท่านพระอาจารย์มั่นก็แสดงธรรมให้ฟัง ชี้ทางประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้บวชญัตติเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุตใหม่อีกครั้ง ที่วัดสร่างโศก อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (อ.เมือง จ.ยโสธร ในปัจจุบัน) ซึ่งปัจจุบันคือ วัดศรีธรรมาราม (พระอารามหลวง) วัดธรรมยุตแห่งแรกใน จ.ยโสธร เมื่อบวชแล้วก็ได้ออกเผยแผ่ธรรมพระกรรมฐาน เป็นศิษย์เอกในสมัยบุกเบิกนั้นอย่างกว้างขวาง ท่านเดินทางกลับบ้านกุดแห่ หลังจากฝึกข้อวัตรปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น ๑ ปี พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ได้ไปพักปักกลดอยู่ที่ดอนปู่ตา รื้อหอปู่ตาทิ้งปลูกกุฏิชั่วคราวขึ้น ปฏิบัติธรรมสั่งสอนประชาชนอยู่ ๑ เดือน ให้เลิกนับถือปู่ตา ให้เลิกนับถือผีฟ้า ให้นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุด
ครั้นต่อมา พระอาจารย์ดี ฉนฺโน พิจารณาเห็นว่าสถานที่ของวัดไม่เหมาะสมและไม่สัปปายะ จึงได้ย้ายจากดอนปู่ตาไปจับจองเอาดอนคอกวัวของ พ่อเฒ่าฝ่ายหน้า บุราณรัตน์ ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ดินแปลงนี้ให้เพื่อสร้างวัด พระอาจารย์ดีจึงสั่งคณะญาติโยมรื้อศาลากุฏิจากวัดศรีบุญเรืองท่าแขก บ้านกุดแห่ เอาไปปลูกสร้างไว้ที่วัดใหม่ดอนคอกวัวทั้งหมด วัดศรีบุญเรืองท่าแขกจึงเป็นวัดร้างแต่นั้นมา ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดป่าสุนทราราม ดอนปู่ตาก็เป็นบ้านดอนสวรรค์ทุกวันนี้ พระอาจารย์ดีท่านจะไม่ค่อยอยู่ประจำ แต่ไปๆ มาๆ เพื่อจัดหาทุนทรัพย์มาก่อสร้างเสนาสนะ ที่ดินทั้งหมดที่พ่อเฒ่าฝ่ายหน้า บุราณรัตน์ ถวายมีทั้งหมด ๖๐ ไร่ ๓ งาน ๒๐ ตารางวา
สำหรับความเป็นมาของชื่อวัดนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระอธิการอินทร์ สุนทโร ซึ่งเป็นบิดาของพระอาจารย์ดี ฉนฺโน อุปสมบทมาหลายพรรษาแล้ว จึงนำเรื่องเสนอพระเถระ ต่อมาพระอธิการอินทร์ สุนทโร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก จึงได้ตั้งชื่อวัดให้คล้ายกับนามฉายาของเจ้าอาวาสรูปแรก รูปปฐมฤกษ์ ว่า “วัดสุนทราราม” สภาพเป็นป่า เป็นวัดป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สายปฏิบัติกรรมฐาน เลยเพิ่มป่าเข้าไปแล้วเรียกว่า “วัดป่าสุนทราราม” พระอธิการอินทร์ สุนทโร ได้พัฒนาก่อสร้างเสนาสนะ กุฏิ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ วัดป่าสุนทรารามมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาไม่เคยขาดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูููลจาก Facebook.วีระยุทธ ป้อมหิน
กลุ่มศิษย์หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร วัดป่าสุนทราราม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น