3/6/67

ประวัติหลวงปู่บุญมา กตปุญโญ (หลวงปู่เจ) ประธานสงฆ์วัดป่าวิเวกธรรม ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

ประวัติหลวงปู่บุญมา กตปุญโญ (หลวงปู่เจ) ประธานสงฆ์วัดป่าวิเวกธรรม ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ๑.ชาติภูมิ เดิมชื่อ บุญมา แก้วปัญญา เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ณ บ้านเลขที่ ๙๗ หมู่ ๔ บ้านพยอม ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ นายมี แก้วปัญญา มารดาชื่อ นางลี แก้วปัญญา อุปนิสัย ฉันอาหารเจ ละเว้นการเบียดเบียน มีเมตตาธรรมและความเพียรเป็นเลิศ ๒.เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ครั้งที่ ๑ หลวงปู่ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร จนอายุครบอุปสมบทท่านก็ได้เข้าอุปสมบทเป็นพระในสังกัดมหานิกาย ที่วัดบ้านเกิด หลวงปู่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งปริยัติและปฏิเวธ อักษรธรรม การเขียนอักขระเลขยันต์ต่างๆ จากท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้น จนแตกฉาน ท่านกล่าวว่า “ท่านเองเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง และเป็นคนว่านอนสอนง่าย” เจ้าอาวาสที่เป็นพระอาจารย์ของท่านมักยกย่องและชื่นชมอยู่เสมอ แต่ด้วยคนอีสานสมัยก่อน ลำบาก ยากจน บิดา-มารดาของท่าน จึงขอร้องให้ท่านออกมาครองเพศเป็นฆราวาส เพื่อจะได้เป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัว ท่านเองเลยจำใจและตัดสินใจลาสิกขาออกมาครองเพศเป็นฆราวาส เพื่อเลี้ยงดูพ่อ-แม่ และครอบครัว ท่านยังกล่าวว่า “ในการครองเพศเป็นบรรพชิตของท่านนั้นก็ยังคงถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด มีงานปฏิบัติธรรมที่ไหนถ้าท่านทราบข่าวท่านก็ไปร่วมตลอดเกือบทุกงาน และหาเลี้ยงครอบครัวด้วยซื่อสัตย์สุจริต ครองตน ครองเรือนด้วยศีลธรรม” เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน จนชาวบ้านขนานนามท่านว่า ”ญาพ่อธรรมเจ” ๓.เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ครั้งที่ 2 เมื่อต่อมาอีกหลายสิบปีท่านเลยตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิต ท่านสละทุกอย่างทางโลก แล้วเข้าอุปสมบท ณ วัดอรุณรังษี ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก สังกัด มหานิกาย เมื่อวันที่ ๑ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ เวลา ๙.๓๐ น. โดยมี พระครูอรุณวิริยกิจ (หลวงพ่อสายตาบ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เทือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ประสิทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อได้อุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาเล่าเรียนกรรมฐานและสรรพวิชาต่างๆเบื้องต้นกับพระครูอรุณวิริยกิจ(หลวงพ่อสายตาบ) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่สักระยะหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งก็ได้มีพระรูปหนึ่งธุดงค์เดินทางมาพักแรมที่วัดอรุณรังษี ท่านเลยเข้าไปสนทนาด้วยจึงได้ทราบว่าพระรูปนี้เดินทางมาจากวัดเขาสมโภชน์ซึ่งได้ไปศึกษาเล่าเรียนกรรมฐานเปิดโลกกับ”หลวงพ่อคง”และเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษากับหลวงพ่อคงให้ท่านฟัง เมื่อท่านได้ฟังอย่างนั้นจึงเกิดความสนใจและอยากไปศึกษา”กรรมฐานเปิดโลก”ที่วัดเขาสมโภชน์ ท่านจึงกราบลา”หลวงพ่อสายตาบ”และได้ออกเดินทางจากวัดอรุณรังสี เพื่อไปศึกษาธรรมกรรมฐานเพิ่มเติมที่”สำนักกรรมฐานเปิดโลก ”หลวงพ่อคง จตฺตมโล” ผู้มีฉายา (พระอรหันต์ร่างทอง) แห่งวัดเขาสมโภชน์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พอไปถึงวัดเขาสมโภชน์ ท่านก็ได้เขาไปกราบฝากกายถวายชีวิตเป็นลูกศิษย์กับ”หลวงพ่อคง” ในเบื้องต้นหลวงพ่อคงก็ได้แนะนำหลักการปฏิบัติกรรมฐานเปิดโลกให้ท่านได้ฟังอย่างละเอียดและให้ท่านนำกลับไปปฏิบัติ ท่านเล่าว่า ”การได้เข้าไปปฏิบัติในวัดเขาสมโภชน์สมัยนั้นท่านรีบเร่งทำความเพียรจนเกิดความรู้ภายในต่างๆก้าวหน้าจากเดิมไปมาก หากติดขัดอะไรท่านก็เข้าไปถามหลวงพ่อคงท่านก็แก้ให้จนสามารถปฏิบัติไปได้โดยลำดับ ในสมัยนั้นท่านมีหมู่คณะที่ศึกษาอยู่ร่วมกันหลายรูปพอสมควร” เมื่อท่านอยู่ที่วัดเขาสมโภชน์สักระยะหนึ่ง เมื่อได้หลักการปฏิบัติกรรมฐานแล้วประกอบกับหลวงพ่อคงท่านได้มรณะภาพลง ท่านจึงตัดสินใจออกเดินทางธุดงค์ปลีกวิเวกไปตามป่าเขาลำเนาไพรไปยังพื้นที่ต่างๆ ลงไปทางภาคใต้ถึงอำเภอสวี จังหวัดชุมพร กลับขึ้นมาทางเหนือถึงจังหวัดเพรชบูรณ์ ก่อนเดินทางกลับมาภาคอีสานอีกครั้งเพื่อเดินทางสู่บ้านเกิดของท่าน ท่านได้กลับไปสร้างวัดป่าแห่งหนึ่งใกล้บ้านเกิดของท่านคือวัดป่าสิบเก้าบ้านบึงโดนในช่วงระยะเวลานี้ท่านก็ยังออกธุดงค์ไปๆมาๆอีกหลายสถานที่ หลวงปู่ท่านได้มีโอกาสได้ไปสนทนาธรรมและขอสรรพวิชาพระคาถาต่างๆ กับพระเทพวิทยาคม ”หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” แห่งวัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา และได้พักจำวัตรอยู่วัดบ้านไร่อยู่หลายครั้ง เมื่อเดินทางออกจากวัดบ้านไร่ท่านก็จะแวะไปสนทนาธรรมและพักกับ “หลวงพ่อทอง ชินวํโส” วัดป่าหิมพานต์ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา(สหธรรมของท่าน) ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับมาจำพรรษาประจำอยู่ที่วัดป่าวิเวกธรรม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยวัดป่าวิเวกธรรมนี้ท่านก็ได้เป็นหนึ่งในผู้มาร่วมบุกเบิกโคกป่าช้า ๗ หมู่บ้าน ร่วมพลิกแผ่นดินแผ่นป่าให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาร่วมกับ“พระอาจารย์ยุทธ จันทสาโร”ผู้เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อทอง ชินวํโส ผู้เป็นสหธรรมของท่านเอง ต่อมาวันหนึ่งหลวงปู่เจท่านได้นิมิตเห็นถ้ำแห่งหนึ่ง ถ้ำแห่งนี้มีพญานาค ๒ ตน เฝ้ารักษาอยู่ พญานาค ๒ ตนนี้ได้มากราบนิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษา ณ สถานที่ดังกล่าว (ความเชื่อส่วนบุคคล)ท่านจึงออกเดินธุดงค์อีกครั้งตามนิมิต และในที่สุดก็ไปเจอถ้ำนี้อยู่ที่เขาลูกหนึ่ง ในเขตอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด และท่านจึงจำพรรษาอยู่นั่นหลายพรรษา หลวงปู่ได้เล่าว่า ”ที่ถ้ำพญานาคแห่งนี้สมัยนั้นลำบากมากระยะทางจากถ้ำลงไปยังหมู่บ้าน เดินลงไปรับเพื่อไปรับบิณฑบาตรมาฉันในแต่ละวัน ระยะทางไปกลับ ๑๐ กิโล ใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงในแต่ละวัน หลวงปู่ท่านปฏิบัติอย่างเอาเป็นเอาตาย เร่งทำความเพียรอย่างมาก เดินจงกรม นั่งภาวนา เจริญจิตเมตตาภาวนาทุกวัน เจริญสติ เจริญปัญญา เพื่อชำระกิเลสน้อยใหญ่ภายในใจของตน ท่านว่า ”ท่านได้ธรรมมาเป็นเครื่องครองใจของตน ณ ถ้ำแห่งนี้ ” หลวงปู่นับว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่จำพรรษาและได้บุกเบิกนำความเจริญเข้าไปยังสถานที่แห่งนี้ ก่อนที่จะกลับลงมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรมอีกครั้งตามคำอารธนานิมนต์ของ พระอาจารย์ยุทธ จันทสาโร พร้อมทายกทายิกวัดป่าวิเวกธรรม ด้วยเหตุที่ว่าหลวงปู่ต้องกลับมาเป็นกำลังหลักในการสร้างวัดป่าวิเวกธรรมแห่งนี้เพราะท่านเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนในเขตนั้นเป็นอย่างมาก ประกอบกับหลวงปู่ท่านก็ชราภาพมากแล้วตามอายุสังขาร ท่านจะได้มีลูกพระ ลูกเณร ญาติโยมค่อยดูแลอุปัฏฐากกอย่างใกล้ชิด หลวงปู่ท่านก็ตอบรับกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน วัดป่าวิเวกธรรม เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพระ เณร ร่วมจำพรรษานับ 10 รูป ในทุกๆปีในช่วงเดือน มกราคมของทุกปีวัดจะมีการจัดโครงการเข้าปริวาสกรรม และปฏิบัติธรรม ออกเดินธุดงค์ธรรมะสัญจรไปยังสถานที่สำคัญต่างๆเช่น พระธาตุพนม พระธาตุนาดูน พระธาตุยาคู เทือกเขาภูพาน มีพระสงฆ์ สามเณรและพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมปฏิบัติธรรมไม่ต่ำกว่าปีละ 200 คน และในช่วงเดือน เมษายน ของทุกปีก็ทางวัดก็จะจัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ มีนักเรียน นักศึกษา พุทธศาสนิกชนเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก หลวงปู่บุญมา กตปุญโญ หรือ (หลวงปู่เจ) ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเป็นพระที่มักน้อย พูดน้อย ชอบความวิเวก สันโดษ มีเมตตาเป็นเลิศ มีความเพียรเป็นเลิศ ละเว้นการเบียดเบียน ประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัย รักษาข้อวัตรปฏิบัติ รักษาพระธรรมวินัย เป็นพระผู้ปฏิบัติตนตามรอยแห่งองค์พระศาสดาและเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง ๔.การจัดสร้างวัตถุมงคล ในปี ๒๕๖๐ ทางคณะกรรมการวัดป่าวิเวกธรรม ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกหลวงปู่ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกกฐินสามัคคีและนำออกมาให้ญาติโยมได้บูชาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาปัจจัยก้อนแรกในการก่อสร้างอุโบสถ และหลังจากปี ๒๕๖๐เป็นต้นมาทางวัดก็ได้อนุญาตให้คณะบุคคลต่างๆได้เข้ามาจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่เรื่อยมาโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนในการก่อสร้างอุโบสถให้แล้วเสร็จเป็นถาวรวัตถุคู่พระพุทธศาสนาสืบไป เรียบเรียง/เผยแผ่โดยนายภานุพล เทพดู่ (ครูจ๊อด) พร้อมคณะศิษย์ หลวงปู่บุญมา กตปุญโญ (หลวงปู่เจ) ***ขอบคุณข้อมูลประวัติ/รูปภาพ***** กลุ่มหลวงปู่เจ(บุญมา) กตปุญโญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น